พบจุลินทรีย์บนหินจากดาวเคราะห์น้อย (แต่จุลินทรีย์นี้ อาจไม่ได้มาจากอวกาศ)
การค้นพบจุลินทรีย์ในตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อย ริวงู (Ryugu) ทำให้เกิดความตื่นเต้นในวงการชีววิทยาดาราศาสตร์ แม้ว่าจุลินทรีย์เหล่านี้จะมาจากโลก ไม่ใช่จากนอกโลก แต่เหตุการณ์นี้เน้นให้เห็นถึงความยากลำบากในการป้องกันการปนเปื้อนในตัวอย่างที่นำกลับมาสำรวจบนโลก
รีวงู (Ryugu)หรือชื่อทางการ 1999 JU3 เป็นดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก (Near-Earth Object: NEO) ในกลุ่มอะพอลโล ซึ่งจัดอยู่ในประเภทดาวเคราะห์น้อยที่มีศักยภาพเป็นอันตรายต่อโลก (Potentially Hazardous Object: PHO) ด้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 กิโลเมตร รีวงูเป็นวัตถุท้องฟ้าสีเข้มที่มีคุณสมบัติผสมผสานระหว่างสเปกตรัมประเภท G และ C ซึ่งทำให้จัดอยู่ในกลุ่ม Cg-type asteroids
รีวงูได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากวงการวิทยาศาสตร์อวกาศ โดยเป็นเป้าหมายของภารกิจสำรวจจากยานอวกาศ ฮายาบูซะ 2 (Hayabusa 2) ซึ่งปล่อยตัวจากโลกเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2014 ยานมีกำหนดเดินทางถึงรีวงูในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2018 เพื่อดำเนินการสำรวจและเก็บตัวอย่างดินและหินจากพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อย
ในปี 2020 ยานสำรวจอวกาศ ฮายาบูซะ 2 ได้นำตัวอย่างหินน้ำหนัก 5.4 กรัมกลับมายังโลก ตัวอย่างถูกขนส่งไปยังศูนย์วิจัยเฉพาะทางในเมืองซางามิฮาระ ประเทศญี่ปุ่น และถูกเก็บรักษาอย่างระมัดระวังในห้องสุญญากาศที่อยู่ภายในห้องปลอดเชื้อ และต่อมาเก็บไว้ในห้องที่บรรจุก๊าซไนโตรเจน
ตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อย ริวงู ส่วนหนึ่ง ถูกส่งมายังสหราชอาณาจักรเพื่อการศึกษาโดยทีมวิจัยของ Matthew Genge แห่ง Imperial College London
ทีมงานของ Genge เริ่มต้นด้วยการสแกนตัวอย่างด้วยรังสีเอกซ์ (X-rays) ซึ่งไม่พบหลักฐานการมีอยู่ของแบคทีเรียในตอนแรก จากนั้นผ่านไปสามสัปดาห์ ตัวอย่างถูกย้ายไปยังเรซิน และอีกหนึ่งสัปดาห์ถัดมา พวกเขาตรวจสอบตัวอย่างอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นด้วย กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (SEM)
เมื่อ Genge และทีมของเขาได้เห็นสิ่งที่ดูเหมือนแบคทีเรียรูปร่างคล้ายเส้นใยบนตัวอย่าง นักศึกษาในทีมถึงกับ “ตกเก้าอี้” ด้วยความตื่นเต้นที่คิดว่าพวกเขาอาจค้นพบสิ่งมีชีวิตนอกโลก
Genge เล่าว่า “มันเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นมาก แต่ในส่วนลึกของจิตใจ ผมก็นึกถึงการศึกษาก่อนหน้านี้ที่แสดงให้เห็นว่าแบคทีเรียสามารถยึดเกาะหินได้ง่ายเพียงใด” คำพูดนี้สะท้อนถึงความรอบคอบและการวิเคราะห์ด้วยวิทยาศาสตร์อย่างเป็นเหตุเป็นผล แม้จะเผชิญกับความตื่นเต้นจากการค้นพบที่อาจเปลี่ยนแปลงวงการชีววิทยาดาราศาสตร์
การตรวจสอบเพิ่มเติมของทีม Matthew Genge ผ่านการวัดด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (SEM) ชี้ให้เห็นว่า จำนวนแบคทีเรียในตัวอย่างเปลี่ยนแปลงในลักษณะคล้ายกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่รู้จักบนโลก เมื่อรวมกับรูปร่างที่คุ้นเคยและการที่ไม่พบแบคทีเรียในระหว่างการสแกนด้วยรังสีเอกซ์ครั้งแรก จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าแบคทีเรียเหล่านี้มีต้นกำเนิดจากโลกเราเอง ไม่ได้มาจากอวกาศ
Genge สันนิษฐานว่าการปนเปื้อนเกิดขึ้นหลังจากตัวอย่างถูกฝังในเรซิน ซึ่งจัดเตรียมในสถานที่เดียวกับที่มีการจัดการหินอวกาศจากโลก หินเหล่านี้มักมีแบคทีเรียที่ปรับตัวให้สามารถอยู่รอดในตัวอย่างหินได้
“เพียงแค่แบคทีเรียหรือสปอร์แบคทีเรียหนึ่งตัว ก็สามารถเริ่มกระบวนการนี้ได้” Genge อธิบาย โดยปกติเมื่อเตรียมตัวอย่างอุกกาบาต จะไม่ค่อยพบการเติบโตของแบคทีเรีย เนื่องจากความน่าจะเป็นที่จะเกิดการปนเปื้อนต่ำมาก แต่ในกรณีนี้ เพียงแบคทีเรียตัวเดียวตกลงบนตัวอย่าง ก็เพียงพอที่จะเริ่มการเจริญเติบโตได้
Genge ย้ำว่ากรณีนี้ควรเป็นคำเตือนสำคัญสำหรับภารกิจเก็บตัวอย่างอวกาศในอนาคต “การค้นพบจุลินทรีย์ในตัวอย่างจากอวกาศควรจะเป็นมาตรฐานทองคำในการพิสูจน์การค้นพบสิ่งมีชีวิตนอกโลก หากเราสามารถบินไปดาวอังคาร เก็บตัวอย่างกลับมา และพบจุลินทรีย์ในนั้น คุณอาจเรียกได้ว่านั่นเป็นหลักฐานเด็ดขาด”
แต่การค้นพบในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งต่อการตีความ เนื่องจากตัวอย่างสามารถปนเปื้อนด้วยจุลินทรีย์จากโลกได้ง่ายดาย การวางมาตรการที่เข้มงวดและเพิ่มความรัดกุมในกระบวนการเก็บและจัดการตัวอย่างจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจส่งผลต่อการวิเคราะห์ในอนาคต