WOH G64: ภาพระยะใกล้ครั้งแรกของดาวฤกษ์ยักษ์นอกกาแล็กซี กับช่วงสุดท้ายก่อนการมอดดับ
นี่คือภาพระยะใกล้ภาพแรกของดาวฤกษ์ที่อยู่นอกกาแล็กซีของเรา
นี่คือภาพของดาว WOH G64 ที่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์ Interferometer ขนาดใหญ่มาก ของหอดูดาวยุโรปตอนใต้ (European Southern Observatory’s Very Large Telescope) ซึ่งใช้การรวมข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ 4 ตัวเข้าด้วยกัน
ดาว WOH G64 ความสว่างโดดเด่น ภายในลำแสงที่คล้ายรูปไข่ซึ่งเชื่อว่าเป็น “เปลือกหุ้ม” ของแก๊สและฝุ่นที่ดาวปลดปล่อยออกมาเอง
นี่ถือเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์สามารถถ่ายภาพระยะใกล้ของดาวฤกษ์ที่อยู่นอกกาแล็กซีทางช้างเผือกได้ โดยภาพนี้เผยให้เห็นรายละเอียดของ WOH G64 ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ยักษ์ที่อยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต
ดาวยักษ์ที่ใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ถึง 1,500 เท่า
WOH G64 มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเราถึง 1,500 เท่า และตั้งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 160,000 ปีแสง ดาวดวงนี้อาศัยอยู่ในกลุ่มเมฆแมเจลแลนใหญ่ (Large Magellanic Cloud) ซึ่งเป็นกาแล็กซีย่อยที่โคจรรอบทางช้างเผือก
ก่อนหน้านี้ การถ่ายภาพ WOH G64 อย่างคมชัดถือเป็นเรื่องแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะจำเป็นต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 100 เมตร แต่ด้วยเทคนิคใหม่ของนักดาราศาสตร์ ที่ได้นำข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ขนาด 1.8 เมตร 4 ตัวมาประกอบเข้าด้วยกัน และเปิดโอกาสให้ได้เห็นช่วงสุดท้ายของชีวิตดาวฤกษ์อย่างใกล้ชิด
Keiichi Ohnaka นักดาราศาสตร์จาก Universidad Andrés Bello ในประเทศชิลี อธิบายว่า “นี่คือโอกาสที่หาได้ยากยิ่งสำหรับการศึกษาว่าดาวฤกษ์เปลี่ยนแปลงอย่างไรในช่วงก่อนที่มันจะระเบิดเป็นซูเปอร์โนวา แน่นอนว่า ‘ก่อนการระเบิด’ นี้เป็นเรื่องในระดับเวลาทางดาราศาสตร์ อาจไม่ใช่ปีหน้า หรือแม้แต่พันปีข้างหน้า”
ดาวดวงนี้ถูกล้อมรอบด้วยเปลือกฝุ่นและแก๊สรูปไข่จาง ๆ ซึ่ง Ohnaka สันนิษฐานว่าเป็นวัตถุที่ดาวฤกษ์ปลดปล่อยออกมาในช่วงใกล้ตาย เช่น แก๊สและฝุ่นละออง ซึ่งเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ถึงจุดจบของมันมีอยู่ชัดเจน
นี่คือภาพจำลองที่สร้างขึ้น แสดงให้เห็นดาว WOH G64 ที่ใจกลางของเปลือกฝุ่นและแก๊สที่ครอบคลุมมันอยู่
สิ่งที่บ่งบอกว่าดาวฤกษ์กำลังมอดดับลงอย่างชัดเจนมาจากความจางของมันในภาพ ซึ่งต่างจากบันทึกในอดีตที่แสดงความสว่างมากกว่า Ohnaka เชื่อว่าดาวเริ่มปลดปล่อยสสารจำนวนมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ความสว่างลดลง
แม้ว่าความสว่างที่ลดลงอาจเป็นเพียงชั่วคราวสำหรับดาวบางดวง แต่ในกรณีนี้ ดาวดวงนี้อาจไม่มีวันกลับมาสว่างอีกเลย
“ตอนแรก เราตั้งใจจะถ่ายภาพระยะใกล้เพิ่มเติม” Ohnaka เล่า “แต่ดาวจางลงเกินกว่าที่เราคาด เราจึงเริ่มติดตามดูว่าแสงของมันจะกลับมาหรือไม่… แต่ในท้ายที่สุด อาจจะไม่มีการกลับมา แสงของมันอาจจะค่อย ๆ หายไปเรื่อย ๆ อย่างน่าใจหาย”
ที่มา https://www.sciencenews.org/article/first-close-image-star-beyond-galaxy